มาตรฐานต่าง ๆ สำหรับโรงพยาบาล

         

          ในยามที่หลายคนเจ็บป่วยหรือไม่สบาย โรงพยาบาลคืออีกหนึ่งคำตอบที่ทำหน้าที่ให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ป่วยรักษาพยาบาลอย่างครบวงจรพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมไปถึงศึกษาค้นคว้าด้านวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูภาวะความเจ็บป่วย หรือโรคต่างๆทั้งทางร่างกายและจิตใจพร้อมรองรับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง

 

          โรงพยาบาลจึงถูกออกแบบให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพและการให้บริการแก่ผู้ป่วยความปลอดภัยต่อผู้ป่วยไม่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยซ้ำซ้อนมากขึ้นเมื่อมาใช้บริการที่โรงพยาบาล การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาลนั้นๆรวมไปถึงการเก็บรักษาความลับด้านสุขภาพของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ เป็นต้น

         ผู้ให้บริการด้านพยาบาลจึงพยายามพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพมากขึ้นโดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานด้านสุขภาพ ไม่วาจะเป็นการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล Hospital accreditation (HA) หรือการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยในการดูแลรักษาพยาบาลให้กับสถานพยาบาลทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง Joint Commission International (JCI) รวมไปถึงการตรวจสอบระบบความปลอดภัยจากอัคคีภัย (NFPA) ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการรับรองให้ผู้รับบริการทราบว่าทุกคนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพภายใต้มาตรฐานสากลที่เป็นยอมรับทั่วโลก

         หน้าถัดจากนี้...ทำให้คุณทราบว่าเครื่องมือในการวัดคุณภาพนั้นทำหน้าที่อย่างไร และใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือแต่ละประเภทเพื่อเป็นหลักประกันว่าผลการรับรองนั้นเป็นที่น่าเชื่อถือ มีคุณภาพ ปลอดภัยและเป็นการยืนยันว่าโรงพยาบาลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

          หากสถานพยาบาลใดให้ความสำคัญกับการตรวจประเมินเพื่อรับรองคุณภาพ นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าโรงพยาบาลนั้น มีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการบริหารการจัดการ และการบริการอย่างต่อเนื่องซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่ามีความใส่ใจในการให้บริการแล้ว ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลให้เกิดความน่าเชื่อถือ ผู้ใช้บริการเกิดความไว้วางใจ



          แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า การพัฒนาคุณภาพบริการของสถานพยาบาลนั้นๆ มีมาตรฐานจริงๆสามารถพิจารณาได้จากอะไรบ้าง วิธีง่ายๆ ในเบื้องต้น คือ ปัจจุบันกระบวนการพัฒนาคุณภาพต่างๆมีด้วยกันหลายแบบ เช่น มาตรฐานการรับรองกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล หรือ HA (Hospital Accreditation), NFPA มาตรฐานการตรวจสอบระบบความปลอดภัยจากอัคคีภัย รวมไปถึงมาตรฐานสากลอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น มาตรฐาน JCI โดยแต่ละมาตรฐานแม้จะมีรายละเอียดที่ต่างกันแต่ก็มุ่งเน้นที่การพัฒนากระบวนการบริการและการรักษาพยาบาล ซึ่งยืนยันได้ว่าสถานพยาบาลนั้นๆมีคุณภาพตามมาตรฐานจริง และได้พัฒนาจนผ่านการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือเหล่านี้ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ประชาชนหรือผู้ป่วยที่มารับบริการ จะได้รับประโยชน์ด้านความปลอดภัยสูงสุด    

รู้แบบนี้แล้ว...เรามาดูกระบวนการทำงานของแต่ละมาตรฐานกันเลยดีกว่า ว่ามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร



Hospital Accreditation : HA 

          ในยุคของการเปลี่ยนแปลง เรามักจะได้ยินคำว่า ''คุณภาพ'' อยู่เสมอ ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกับมาตรฐานสาธารณสุขมาตราที่ 82 ความว่า รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง การให้บริการพยาบาลจึงมุ่งเน้นที่คุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับบริการที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันจึงได้พัฒนาคุณภาพโดยใช้เครื่องมือต่างๆ ได้แก่ HA ย่อมาจากคำว่า Hospital accreditation หมายถึง การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลโดยเฉพาะ ไม่สามารถนำไปใช้กับการรับรองโรงงานหรือบริการอย่างอื่นได้ ซึ่งจะต่างจาก ISO เพราะ HA นั้นจะได้รับต้องผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการพัฒนาสถานพยาบาลรับรองว่าโรงพยาบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาภาพมีระบบป้องกันและจัดการความเสี่ยง มีระบบประกันคุณภาพ มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องโดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มีระบบตรวจสอบตนเองที่น่าเชื่อถือ มีการดูแลมาตรฐาน และจริยธรรมวิชาชีพมีการทำงานเป็นทีม และมีการนำองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีทรัพยากรเพียงพอเหมาะสมกับภาระงาน

 

          ซึ่งประโยชน์ที่ได้จาก Hospital Accreditation สำหรับผู้ป่วยความเสี่ยงต่อการประสบความสูญเสีย หรือภาวะแทรกซ้อนลดลง คุณภาพการดูแลดีขึ้น ได้รับการพิทักษ์สิทธิผู้ป่วยมากขึ้น สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ความเสี่ยงจากการทำงานลดลง ความเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ลดลง สิ่งแวดล้อมในการทำงานและการประสานงานดีขึ้นเจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง และสำหรับโรงพยาบาล สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่ความเป็นเลิศ ทำให้องค์กรอยู่รอดและยั่งยืน

 
Joint Commission International Quality Approval: (JCI) 

          หากสังเกตให้ดีปัจจุบันสถานพยาบาลชั้นนำในเมืองไทย เริ่มมีการแสดงภาพโลโก้สีทองทรงกลมที่มีข้อความสั้นๆ ปรากฏบนตัวโลโก้ว่า Joint Commission International Quality Approval หลายคนอาจมีคำถามตามมาว่าโลโก้นี้คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไมโรงพยาบาลให้ความสำคัญจนต้องนำมาปรากฏให้เห็น สำหรับคนไทยอาจยังไม่ป็นที่รู้จักหรือคุ้นตาแพร่หลายมากนัก กับการรับรองคุณภาพที่มีชื่อว่า Joint Commission International (JCI) แต่สำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา สัญลักษณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยคัดกรองสถานพยาบาลที่มีคุณภาพให้ผู้รับบริการได้มั่นใจว่า สถานพยาบาลแห่งนั้นมีการให้บริการที่มุ่งเน้นคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้รับบริการเป็นสำคัญ สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสามารถตรวจสอบได้

 

          The Joint Commission International (JCI) อยู่ในการกำกับดูแลของ The Joint Commission ซึ่งเป็นสถาบันของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ดำเนินงานมานานกว่า 75 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ และความปลอดภัยในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้กับสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตรวจประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตลอดจนได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพแก่สถานพยาบาลที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด


 

          คราวนี้มาดูว่าผู้ป่วยจะได้อะไรจากมาตรฐาน JCI ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการจะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพทัดเทียมกับโรงพยาบาลในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งประโยชน์จาก JCI ที่ผู้ป่วยจะได้รับที่เห็นได้ชัดคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยซึ่งเป็นเรื่องที่ JCI ได้ทำการพัฒนาร่วมกับองค์การอนามัยโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดเป้าหมายความปลอดภัยไว้ทั้งหมด 6 ข้อที่โรงพยาบาลต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ

 

  • ระบุตัวผู้ป่วยถูกต้อง (ถูกคน) เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและถูกคน
  • บุคลากรในทีมดูแลผู้ป่วยจะต้องมีการสื่อสารระหว่างกันที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการสื่อสารข้อมูลการรักษาพยาบาล
  • ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและเฝ้าระวังหากมีการใช้ยาที่ต้องระมัดระวังสูง
  • ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่ถูกตำแหน่ง ถูกหัตถการ ถูกคน
  • ผู้ป่วยจะปลอดภัยจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยมุ่งเน้นให้บุคลากรดูแลผู้ป่วย ญาติ และผู้ที่มาเยี่ยมผู้ป่วยล้างมืออย่างถูกต้องและเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคไปสู่ผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและได้รับการเฝ้าระวังในทุกจุดบริการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภยันตรายต่อผู้ป่วยจากภาวะพลัดตกหกล้มในโรงพยาบาล

 

          เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยที่สุด การที่โรงพยาบาลได้รับการรับรองคุณภาพการดูแลรักษาพยาบาลและการบริการด้วยมาตรฐานสากล JCI นี้ เป็นการยืนยันว่าโรงพยาบาลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

 

National Fire Protection Association (NEPA) 

          NFPA เป็นมาตรฐานการออกแบบเพื่อป้องกันอัคคีภัย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะลดปัญหาและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากอัคคีภัยและอุบัติภัยต่างๆ มีชื่อเรียกเต็มๆว่า National Fire Protection Association นอกจากนี้ NFPA ยังเป็นแหล่งรวมข้อมูลที่สำคัญด้านความปลอดภัยของสาธารณชน มาตรฐานความปลอดภัยของ NFPA กว่า 300 ประเภท ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และนำมาใช้ในกระบวนการก่อสร้างและบริหารจัดการอาคารให้มีความปลอดภัย โดยครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ ติดตั้ง ตรวจสอบ จนถึงการดับเพลิงเมื่อเกิดอัคคีภัย

 

          และสำหรับอาคารที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากๆ จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม และแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุเพลิงไหม้ที่จะเกิดขึ้น โดยในแต่ละชั้น โดยแต่ละชั้นที่มีพื้นที่เกินกว่า 10,000 ตารางเมตร ต้องมีระบบป้องกันเพลิงไหม้พร้อมติดตั้งเครื่องดับเพลิงในแต่ละชั้น ติดตั้งเครื่องดับเพลิงหนึ่งเครื่องต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง และติดตั้งให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.5 เมตร ในที่มองเห็นสามารถอ่านแนะนำการใช้ได้ และสามารถเข้าใช้ได้โดยสะดวก

 

          นอกจากนี้ในส่วนของบันไดหนีไฟ ต้องทำด้วยวัสดุทนไฟและไม่ผุกร่อน เช่น คอนกรีเสริมเหล็ก เป็นต้น และความกว้างไม่น้อกว่า 90 เซนติเมตร ลูกนอนกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร มีชานพักกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตรและมีราวบันไดอย่างน้อยหนึ่งด้าน ส่วนประตูหนีไฟต้องทำด้วยวัตถุทนไฟ โดยมาตรฐานทั่วไปจะมีขนาด 0.90-1.20 เมตร เป็นบานเปิดชนิดผลักออกสู่ภายนอกพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ชนิดที่บังคับให้บานประตูปิดเองได้ มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร และสามารถเปิดออกได้โดยสะดวกตลอดเวลา ประตูสู่ทางออกสู่บันไดหนีไฟต้องไม่มีชั้นหรือธรณีประตูหรือผนังกั้นทางหนีไฟจะต้องมีอัตราการทนไฟอย่างน้อย  1 ชั่วโมง ผนังทางหนีไฟจะต้องกั้นยันพื้นต่อพื้น

 

          ส่วนการมีระบบอัดอากาศที่มีการคำนวณตาม NFPA ในบันไดหนีไฟที่เหมาะสมและถูกต้อง จะช่วยป้องกันควันไม่ให้แพร่กระจายไปซึ่งระบบนี้สามารถใช้ได้กับบันไดที่อยู่ภายใน และภายนอกอาคาร หลักการก็คือ “พัดลมอัดอากาศจะต้องติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่ไม่สามารถดูดควันกลับเข้ามาในอากาศได้ อากาศภายนอกที่พัดลมดูดเข้ามาจะถูกอัดเข้าภายในบันไดโดยตรง หรือโดยการอัดเข้าปล่องอัดอากาศก่อนแล้วค่อยระบายสู่บันไดก็ได้ หลังจากนั้นอากาศจากบันไดจะไหลออกสู่ตัวอาคารผ่านทางช่องวางนอกวงกบประตูในกรณีที่ประตูปิดอยู่ และไหลออกสู่ตัวอาคารหรือภายนอกอาคาร”

 

          สำหรับอาคารขนาดใหญ่ โครงสร้าง เสา และคาน จะต้องมีอัตราการทนไฟ ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ส่วนพื้นไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง และบันไดที่ไม่ใช่บันไดหนีไฟ ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง บันไดหนีไฟ ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง (ซึ่งเทียบเท่าคอนกรีตหนาอย่างน้อย 10 เซนติเมตร) ในส่วนของผนังควรเลือกใช้ผนังที่ทำจากวัสดุที่ไม่ติดไฟ และกำหนดที่ชัดเจนว่า ผนังกันไฟ หรือ ตัวหนังสือแสดงไว้ว่า Fire Wall พร้อมคำอธิบายว่า ''ผนังกันไฟ ห้ามเจาะ โดยไม่ได้รับอนุญาต''

 

          เรียกได้ว่ามาตรฐาน NFPA เมื่อถูกนำมาใช้ในกระบวนการก่อสร้างละบริหารจัดการอาคาร ทำให้มีความปลอดภัย โดยครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ ติดตั้ง ตรวจสอบ จนถึงการดับเพลิงเมื่อเกิดอัคคีภัย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรฐานโรงพยาบาล


 ตารางสรุป มาตรฐาน HA,JCI และ NFPA

มาตรฐาน รายละเอียด
Hospital Accreditation (HA)
  • เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของระบบบริการสุขภาพทั้งในระดับโรงพยาบาลและในภาพรวม
  • มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างระบบคุณภาพเพื่อตอบสนอง ความต้องการของลูกค้า
  • ให้ความสำคัญกับการประเมินตนเองเพื่อให้เห็นจุดอ่อนแล้วนำไปสู่การพัฒนา
  • การป้องกันความเสี่ยง การดูแลโครงสร้างกายภาพและความปลอดภัย การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล
  • การวางแผนดูแลรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายการติดตามเฝ้าระวังดูอาการเปลี่ยนแปลง
  • แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยบนพื้นฐานของความรู้ที่ทันสมัย
  • การทำงานเป็นทีมและการประสานงานระหว่างวิชาชีพ และระหว่างหน่วยงานต่างๆโดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
          การควบคุมความเที่ยงของทักษะ ของแพทย์พยาบาลต้องอาศัยการฝึกอบรมและการทบทวนตรวจสอบในกลุ่มเพื่อนร่วมวิชาชีพ

The Joint Commission International (JCI)

  • ระบุตัวผู้ป่วยถูกต้อง (ถูกคน) เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและถูกคน
  • บุคลากรในทีมดูแลผู้ป่วยจะต้องมีการสื่อสารระหว่างกันที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการสื่อสารข้อมูลการรักษาพยาบาล
  • ผู้ป่วยจะได้รับการดูแล และเฝ้าระวังหากมีการใช้ยาที่ต้องระมัดระวังสูง
  • ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่ถูตำแหน่ง ถูกหัตถการ ถูกคน
  • ผู้ป่วยจะปลอดภัยจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยมุ่งเน้นให้บุคลากรในทีมดูแลผู้ป่วย ญาติ และผู้ที่มาเยี่ยมผู้ป่วย  ล้างมืออย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคไปสู่ผู้ป่วย
          ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความเสียงต่อการพลัดตกหกล้มและได้รับการเฝ้าระวังในทุกจุดบริการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายของผู้ป่วยจากภาวะพลัดตกหกล้มในโรงพยาบาล
National Fire Protection Association (NFPA)
  • มาตรฐานป้องกันอัคคีภัย โดยเริ่มต้นที่โครงสร้าง และงานสถาปัตยกรรม
  • อาคารต้องมีเส้นทางหนีไฟ  และทางหนีไฟต้องเป็นพื้นที่ว่างภายในขนาดเพียงพอที่จะรองรับการอพยพ หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
  • มีการจัดเก็บวัสดุที่ติดไฟไว้ในที่ปลอดภัย
          มีระบบเตือนภัย และอุปกรณ์ตรวจจับควัน  สัญญาณเตือนเมื่อเกิดอัคคีภัย

 

Visitors: 59,098