การออกแบบพื้นที่สำหรับแผนกผู้ป่วยนอกOut - Patient Department & Accident and Emergency
หากพูดถึงแผนกผู้ป่วยนอก หรือ OPD คือส่วนงานของโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยที่มารับการรักษา โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย รวมถึงการตรวจวินิจฉัยอาการเบื้องต้น และภาพที่เราคุ้นตาเมื่อไปถึงโรงพยาบาล แผนกผู้ป่วยนอกจะอยู่ในอาคารที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าสุดโรงพยาบาล และพอเดินเข้าไปในภายในอาคารจะมองเห็นเป็นโถงโล่งๆ ที่ถูกออกแบบให้มีบรรยากาศแบบสบายๆ เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด ในปัจจุบันโรงพยาบาลหลายๆ แห่งได้มีการพัฒนาและเน้นการตกแต่งบรรยากาศภายในแผนกผู้ป่วยนอกให้มีความสวยงามคล้ายๆ กับโรงแรม ที่เราเรียกว่า hospitality เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย รวมทั้งรู้สึกสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตร และการได้รับการดูแลเมื่อมาใช้บริการในโรงพยาบาลนั้นๆ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบ คือจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่เป็นหลักด้วยเช่นกัน เก้าอี้สำหรับนั่งรอการรักษาจึงถูกจัดเตรียมไว้ให้เพียงพอกับปริมาณผู้ป่วยและญาติที่มาใช้บริการ ในบริเวณเดียวกับห้องตรวจที่เรียงรายอยู่หลายห้อง สำหรับพื้นที่ภายในแผนกผู้ป่วยนอกนั้น ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น Screening area ห้องตรวจวินิจฉัยโรค ห้องทันตกรรม และห้องตรวจเด็ก เป็นต้น โดยแต่ละห้องมีหลักในการออกแบบ เพื่อรองรับผู้เข้ามาใช้บริการอย่างไรบ้าง เริ่มจาก...
ส่วนของห้อง Screening area เรียกว่าเป็นจุดที่ผู้ป่วยจะได้รับการซักถามอาการเจ็บป่วยก่อนส่งตัวไปยังแผนกต่างๆ ตามอาการ สำหรับห้องนี้การออกแบบตกแต่งเน้นความสวยงาม ห้องวินิจฉัยโรค จะต้องมีผนังและฝ้าเพดานที่เก็บเสียงได้ดี เพราะทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องเก็บรักษาความลับของคนไข้เกี่ยวกับอาการป่วยต่างๆ ประตูสามารถเปิดกว้างได้ เพื่ออำนวยความสะดวกกรณีที่ผู้ป่วยต้องนั่งรถเข็นและสามารถระบายอากาศที่ดี ส่วนคลินิกเด็ก ห้องตรวจควรอยู่ห่างจากบันไดเลื่อน เพราะเด็กอาจวิ่งเล่นซึ่งอาจเกิดอันตรายกับเด็กได้ การเลือกใช้วัสดุตกแต่งในส่วนของผิวพื้นนั้นจะต้องเป็นผิวเรียบ ไม่ลื่น หลีกเลี่ยงการใช้พรม เพราะพรมจะเก็บฝุ่นและความชื้น ควรใช้เป็นกระเบื้องยางแทน ในส่วนของผนังใช้สีสันสดใส เฟอร์นิเจอร์ภายในห้องต้องไม่มีมุม เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่เกิดจากการวิ่งชนของเด็ก และห้องทันตกรรมนั้นการออกแบบจะจัดวางผังพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 โซน คือ ส่วนต้อนรับ พักรอ ห้องตรวจรักษา ทำฟัน ส่วนการเลือกใช้วัสดุพื้นผิวต่างๆ นั้นต้องไม่มีรอยต่อมาก ไม่มีลวดลาย สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เช่น วัสดุปูพื้นควรเป็นชิ้นเดียวกันตลอดแนว และควรหลีกเลี่ยงพื้นผิวขัดที่มีลวดลายสีเทาปนขาวดำ เพราะอุปกรณ์ทำฟันชิ้นเล็ก หากตกพื้นจะหายาก ส่วนผิวพื้นควรมีลักษณะนุ่ม เดินไม่มีเสียงดังรบกวน และไม่ลื่น เพราะอาจมีน้ำหกกระเด็น เปียกลื่นเป็นอันตรายกับคนไข้ นอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุจะต้องทนทานต่อการใช้ง่าย สามารถดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย ไม่มีซอกมุมให้เป็นแหล่งเก็บสะสมฝุ่นละออง
นอกจากทั้งสามห้องนี้แล้ว บริเวณสัญจรภายในแผนกผู้ป่วยนอกก็ออกแบบมาให้รองรับการใช้งานที่เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะเส้นทางสัญจรที่สามารถรองรับผู้รับบริการ รวมทั้งผู้พิการหรือทุพพลภาพ คนชรา ผู้ให้บริการ สิ่งของ วัสดุ/อุปกรณ์ ที่ต้องมีทางสัญจรโดยเชื่อมพื้นที่ในส่วนที่ต่างระดับกัน การออกแบบต้องมีความลาดชันที่สะดวกต่อการใช้งาน หากระดับพื้นต่างระดับกันเกิน 2 ซ.ม. ควรมีทางลาดเอียง และมีทางราบ/ชานพัก ทุกๆ ช่วงความยาว 6.00 ม.และในทุกๆ ที่ที่ลาดมีการเปลี่ยนทิศ ควรมีราวจับตลอดแนวของทางลาด นอกจากนี้การออกแบบบันไดและชานพัก สามารถรองรับการสัญจรของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ (ผู้ป่วย ผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา) ได้อย่างสะดวก คล่องตัว มีระดับของขั้นบันไดที่ไม่ชันมาก เพื่อให้ผู้ป่วย ผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา สามารถก้าวขึ้นลงได้อย่างสะดวกไม่สะดุด มีชานพักบันไดในช่วงระยะที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยในการใช้งาน มีพื้นผิวไม่ลื่น โดยทำกันลื่นหรือติดตั้งอุปกรณ์กันลื่นบริเวณจมูกบันไดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และหากพูดถึงการออกแบบและเลือกใช้วัสดุตกแต่งสำหรับแผนกผู้ป่วยนอกนั้น จะต้องคำนึงว่าไม่เสี่ยงต่ออันตรายหรือการติดเชื้อที่จะมีกับผู้ป่วยบริเวณผนังภายในจะติดวัสดุกันกระแทกที่มีความแข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำความสะอาดได้ง่าย ผิวเรียบ ไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคซึ่งมีให้เลือกใช้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก อลูมิเนียม พีวีซี และแผ่นยาง เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายจากการกระแทกของรถเข็น เปลคนไข้ ส่วนวัสดุผิวพื้นนั้น ต้องคำนึงถึงความแข้งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก รอยขีดข่วน การแตกร้าว ความชื้นและสารเคมี รวมไปถึงการดูแลรักษาทำความสะอาดได้ง่าย มีผิวเรียบ มีร่องหรือรอยต่อน้อย ซึ่งจะไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและฝุ่นผง ในส่วนของวัสดุผิวพื้นมีให้เลือกใช้หลากวัสดุไม่ว่าจะเป็น ไม้จริง ไม้ปาร์เก้ พื้นไม้เทียมหรือไม้สังเคราะห์ พื้นลามิเนต กระเบื้องยาง พื้นอีพอกซี่ กระเบื้องเซรามิก หินอ่อน หินแกรนนิต ซีเมาต์ขัดมัน หินขัด กรวดล้าง ทรายล้าง การออกแบบแผนกผู้ป่วยนอกยังต้องคำนึงถึงการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอย มีที่พักของผู้มารับบริการ มีการจัดเรียงเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นระเบียบไม่กีดขวางทางสัญจร หรือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หัวใจสำคัญของการออกแบบก็คือ ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยซ้ำซ้อนเพิ่มเติมให้กับผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาล